สวัสดีครับเพื่อนๆ ใกล้จะสิ้นปี2567 แล้ว หลายท่านวางแผนกลับต่างจังหวัด บางท่านเตรียมลาหยุดยาว ส่วนตัวผมเอง เป็นอีกปีที่ยังคงทำงานถึงสิ้นปี วันที่ 27 ธ.ค. ตามประสาคนชอบทำงานครับ และที่สำคัญผมชอบที่จะมองแสงเย็นๆบนท้องฟ้าวันสิ้นปี ผมว่ามันสวยดี และรู้สึกถึงพลังงานดีๆ และความหวังที่ทำในหลายๆสิ่งในปีหน้าครับ ยังไงก็ขอให้เพื่อนๆเดินทางไปกลับปลอดภัย มีความสุขในช่วงปีใหม่ 2568 นะครับ
พูดถึงปัญหาข่าวคราวในไทย หลายครึ่งที่เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเฉพาะเกิดขึ้นกับเยาวชนและเด็กนักเรียนที่ถูกรถเชี่ยวชนหลายเคส ทำให้หลายภาคส่วนและหน่วยงานให้ความสำคัญกับการออกมาตรการและกฎหมายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น ในต่างประเทศเรื่องนี้ซีเรียสนะครับ
วันนี้นำประเด็นที่น่าสนใจมาฝากกัน ผมได้อ่านบทความนึงของ คุณสมใจ ทองกุล นักวิชาการต่างประเทศ ของรัฐสภา (เชี่ยวชาญประเทศเกาหลีใต้) น่าสนใจ หากบ้านเมืองเรานำมาปรับใช้ให้เต็มรูปธรรมน่าจะเป็นประโยชน์อย่างมาก ผมสรุปประเด็นมาดังนี้
อุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนเป็นปัญหาระดับชาติที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะประเทศเกาหลีใต้ ที่มีการดำเนินมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวดและมีประสิทธิภาพในการลดจำนวนอุบัติเหตุในเขตโรงเรียนจนกลายเป็นตัวอย่างที่ประเทศไทยควรพิจารณานำมาปรับใช้
มาตรการที่เข้มงวดในเกาหลีใต้
เกาหลีใต้มีการออกกฎหมายและเพิ่มบทลงโทษอย่างชัดเจน โดยผู้ขับขี่ที่ละเมิดกฎในเขตปลอดภัยทางถนนจนเป็นเหตุให้เด็กเสียชีวิต อาจต้องรับโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือปรับเงินสูงถึง 30 ล้านวอน (ประมาณ 900,000 บาท) ขณะเดียวกัน เขตปลอดภัยรอบโรงเรียน (School Zone) ถูกกำหนดให้จำกัดความเร็วไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พร้อมติดตั้งกล้องจับความเร็วและสัญญาณไฟจราจรเพื่อเพิ่มความปลอดภัย
นอกจากนี้ ยังมีการออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อความปลอดภัย เช่น พื้นที่สีเหลือง (Yellow Carpet) สำหรับให้เด็กยืนรอข้ามถนน และติดตั้งอุปกรณ์ชะลอความเร็ว เช่น ลูกระนาดและทางม้าลายที่มองเห็นได้ชัดเจน ทำให้เกาหลีใต้สามารถลดจำนวนอุบัติเหตุในเขตโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โอกาสปรับใช้ในประเทศไทย
ประเทศไทย ซึ่งมีอัตราการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน อาจได้ประโยชน์อย่างมากจากการนำมาตรการดังกล่าวมาปรับใช้ เช่น การกำหนดเขตปลอดภัยในโรงเรียนพร้อมอุปกรณ์เสริมความปลอดภัย และการบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างจริงจัง เช่นเดียวกับเกาหลีใต้ที่เน้นบทลงโทษที่เข้มงวดและไม่มีข้อยกเว้น
นอกจากนี้ การสร้างจิตสำนึกและให้ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยบนท้องถนนแก่เด็กและประชาชนทั่วไป รวมถึงการใช้เทคโนโลยี เช่น กล้องวงจรปิดตรวจจับการกระทำผิด จะช่วยเสริมสร้างความปลอดภัยทางถนนในระยะยาว
ข้อคิดสำหรับรัฐบาลและผู้มีอำนาจ
สมใจ ทองกุล กล่าวในรายงานว่า ความปลอดภัยของเด็กไม่ควรถูกมองข้าม เนื่องจากพวกเขาคืออนาคตของชาติ การออกนโยบายและดำเนินมาตรการป้องกันอย่างจริงจัง ไม่เพียงช่วยลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน แต่ยังเสริมสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบกฎหมายและการบริหารของรัฐ หากประเทศไทยสามารถนำบทเรียนจากเกาหลีใต้ไปปรับใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม จะช่วยสร้างสังคมที่ปลอดภัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นสำหรับทุกคน
นี่ก็เป็นบทความที่น่าสนใจ อยากนำมาแชร์ในเชิงพัฒนา จริงๆเกาหลีใต้ยังมีกฎหมายที่น่าสนใจและน่าศึกษาหลายเรื่องนะครับ ส่วนตัวผมเคยไปดูงานที่กรุงโซล ร่วมกับประธานสภากรุงเทพมหานคร ศึกษาระบบการจราจร ที่เกาหลีใต้ ถือเป็นโมเดลนึงเลย ของกทม.ในการนำมาปรับใช้ ไว้มีไรน่าสนใจนำมาเล่าสู่กันฟังครับ สวัสดี..
ปิยะพล นักวิชาการสื่อใหม่ รายงาน
0 ความคิดเห็น