ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์และมิจฉาชีพทางโทรคมนาคมกลับกลายเป็นภัยคุกคามที่รุนแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในประเทศไทย ที่ยังคงมีผู้เสียหายจากการถูกหลอกลวงเป็นจำนวนมาก ในทางกลับกัน สิงคโปร์กลับเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยมาตรการที่เข้มงวดและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
กฎหมายเข้มงวด ปิดช่องโหว่แก๊งมิจฉาชีพ
หนึ่งในกุญแจสำคัญของความสำเร็จของสิงคโปร์คือการออกกฎหมายที่เฉพาะเจาะจง เช่น กฎหมายควบคุมซิมการ์ด ที่มุ่งเน้นการจัดการกับการจำหน่ายและใช้งานซิมการ์ดที่ผิดวัตถุประสงค์ โดยกำหนดให้ผู้ครอบครองซิมการ์ดจำนวนมากต้องผ่านการตรวจสอบ และลงโทษร้านค้าที่จำหน่ายซิมการ์ดโดยไม่ตรวจสอบข้อมูลลูกค้า มาตรการนี้ช่วยปิดกั้นช่องทางที่มิจฉาชีพใช้ในการหลอกลวงประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังได้ริเริ่ม กรอบความรับผิดชอบร่วมกัน (Shared Responsibility Framework - SRF) ที่บังคับให้ธนาคารและบริษัทโทรคมนาคมร่วมรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดจากการหลอกลวงทางออนไลน์ โดยธนาคารต้องตรวจสอบธุรกรรมที่น่าสงสัย ขณะที่บริษัทโทรคมนาคมต้องบล็อกข้อความและสายโทรเข้าที่มีพฤติกรรมน่าสงสัยอย่างรวดเร็ว
อาวุธสำคัญ
ในด้านเทคโนโลยี สิงคโปร์ได้พัฒนา ScamShield แอปพลิเคชันที่สามารถกรองข้อความและสายโทรเข้าที่มาจากแหล่งที่ไม่ปลอดภัย รวมถึงการใช้ระบบยืนยันตัวตนของผู้ส่งข้อความ (SMS Sender ID) เพื่อลดโอกาสที่มิจฉาชีพจะปลอมแปลงเป็นหน่วยงานทางการหรือบริษัทเอกชน
ธนาคารยังได้รับคำสั่งให้ระงับธุรกรรมที่น่าสงสัยในทันที เช่น การโอนเงินที่มีมูลค่าสูงหรือพฤติกรรมที่ผิดปกติ เพื่อป้องกันไม่ให้เงินของเหยื่อถูกโอนไปยังบัญชีของมิจฉาชีพ
ลดความเสี่ยงจากต้นเหตุ
การแก้ปัญหาของสิงคโปร์ไม่ได้หยุดอยู่แค่การป้องกัน แต่ยังเน้นการให้ความรู้แก่ประชาชนผ่าน โครงการต่อต้านสแกมแห่งชาติ (National Anti-Scam Campaign) และการจัดทำเว็บไซต์เพื่อตรวจสอบและรายงานกรณีการหลอกลวงโดยตรง ประชาชนได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการตรวจจับและหลีกเลี่ยงกลลวงต่าง ๆ ซึ่งช่วยลดจำนวนเหยื่อที่ตกหลุมพรางได้อย่างมีนัยสำคัญ
เรียนรู้และก้าวตามสิงคโปร์
ในขณะที่ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ยังเป็นเรื่องเรื้อรังในประเทศไทย สิงคโปร์ได้พิสูจน์แล้วว่าการแก้ไขปัญหานี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด หากประเทศไทยสามารถนำโมเดลการแก้ปัญหาของสิงคโปร์มาปรับใช้ เช่น การบังคับให้ธนาคารและบริษัทโทรคมนาคมมีส่วนร่วมรับผิดชอบแบบจริงจัง ย้ำว่าต้องเด็ดขาด และการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อป้องกันการหลอกลวง ประเทศไทยจะสามารถลดความเสียหายจากขบวนการเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ภัยคุกคามระดับชาติ ?
ท้ายที่สุด การแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ไม่ใช่แค่การปกป้องประชาชนจากการถูกหลอกลวง แต่ยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว นับวันปัญหามิจฉาชีพทางไซเบอร์มาในหลายรูปแบบ เหยื่อมีตั้งแต่คนมีเงินยันชาวบ้าน ที่โดนต้มตุ๋นหลอกลวง เป็นภัยร้ายแรงที่ไทยจะต้องยกเป็นวาระแห่งชาติแล้วหรือไม่?
การเตือนภัยและการเยียวยา
หากจะตั้งคำถาม การสร้างความตระหนักรู้ สื่อสารเตือนภัย ของหน่วยงานและภาครัฐเพียงพอแล้วหรือยัง หากเอกชนและธนาคารไม่สามารถสกัดปัญหาให้ลดลงได้ รัฐบาลจะต้องใช้ยุทธวิธีและนวัตกรรมใดเพื่อปิดช่องโหว่ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะต้องใช้มาตรการปราบปรามมิจฉาชีพที่อยู่รอบชายแดนและตั้งแก๊งค์อยู่ในประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่ ทุกคนที่เดือดร้อนจากแก๊งคอเซนเตอร์จะต้องได้รับการเยียวยา ดูแลจากเจ้าหน้าที่และหน่วยงานแบบเท่าเทียม ไม่ใช่เพียงเพราะเขาเป็นดาราหรือคนดัง ถึงได้รับการช่วยเหลือ อย่างที่ชาวบ้านเขาแซวกัน
ภัยที่ทุกประเทศให้ความสำคัญและเร่งแก้ปัญหาแบบจริงจัง
แน่นอนว่าปัญหาเหล่านี้หลายประเทศล้วนกำลังประสบปัญหา และออกมาตรการที่จริงจังที่เราควรศึกษา อาทิ เช่น สหรัฐอเมริกา และทวีปยุโรป ก็ใช้มาตรการความร่วมมือระหว่างประเทศ ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) กับหน่วยงานกำกับดูแลระหว่างประเทศเพื่อเพิ่มความร่วมมือข้ามพรมแดน แลกเปลี่ยนความรู้และแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในการต่อต้านการฉ้อโกง สร้างเครือข่ายการสืบสวนและดำเนินคดีการฉ้อโกงระหว่างประเทศ มีทั้งการารปรับปรุงกฎระเบียบและการบังคับใช้กฎหมาย เพิ่มบทลงโทษสำหรับอาชญากรรมทางไซเบอร์และการฉ้อโกงออนไลน์ จัดตั้งศาลพิเศษเพื่อจัดการกับคดีการฉ้อโกงออนไลน์ที่มีความซับซ้อนทางเทคนิค ทำงานร่วมกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศเพื่อจับกุมอาชญากรข้ามชาติ ข้อมูลอ้างอิง
แพลตฟอร์มต่างประเทศ ช่องโหว่มิจฉาชีพไซเยอร์และสื่อสังคมออนไลน์
เวปพนัน ข่าวปลอม fakenews ระบาดหนักยิงแอดโฆษณากันทุกนาที โผล่โชว์ live และภาพ โยงลิ้งค์ แปะลิ้งดูดเงิน ดึงข้อมูล ล้วนแฝงอยู่ในแพลตฟอร์มยอดนิยม เต็มไปหมด นี่ก็เป็นรูปแบบมิจฉาชีพที่มาในรูปแบบการพนัน รวมถึงการโจรกรรมข้อมูล ซึ่งแยกประเภทประมาณ 14 รูปแบบ คือ
1. ฟิชชิ่ง (Phishing) การหลอกลวงผ่านอีเมล ข้อความ หรือเว็บไซต์ปลอม เพื่อขอข้อมูลส่วนตัว เช่น รหัสผ่าน บัตรเครดิต หรือเลขบัญชีธนาคาร มักปลอมตัวเป็นองค์กรที่น่าเชื่อถือ เช่น ธนาคาร บริษัทขนส่ง หรือแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ
2. สแกม (Scam) การหลอกให้เหยื่อโอนเงินหรือซื้อสินค้า/บริการที่ไม่มีอยู่จริง เช่น การขายสินค้าราคาถูกเกินจริง หลอกลงทุน หรือการปลอมแปลงเป็นคนรู้จักเพื่อขอยืมเงิน
3. แฮ็กบัญชี (Account Hacking) การเข้าถึงบัญชีผู้ใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต เช่น โซเชียลมีเดีย อีเมล หรือบัญชีธนาคาร อาจเกิดจากการใช้รหัสผ่านที่ไม่ปลอดภัยหรือการคลิกลิงก์ที่เป็นอันตราย
4. โรแมนซ์สแกม (Romance Scam) การหลอกลวงผ่านความสัมพันธ์หรือการแสร้งเป็นคนรักทางออนไลน์ มิจฉาชีพมักสร้างโปรไฟล์ปลอมเพื่อให้เหยื่อตกหลุมรัก และขอเงินช่วยเหลือในภายหลัง
5. มัลแวร์และแรนซัมแวร์ (Malware and Ransomware) การโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ด้วยซอฟต์แวร์ที่เป็นอันตราย เช่น ล็อกไฟล์ในเครื่องและเรียกค่าไถ่เพื่อปลดล็อก หรือขโมยข้อมูลสำคัญ
6. คอลเซ็นเตอร์หลอกลวง (Call Center Scam) โทรศัพท์เข้ามาอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ เช่น เจ้าหน้าที่รัฐ ธนาคาร หรือบริษัทต่าง ๆ หลอกให้เหยื่อให้ข้อมูลส่วนตัวหรือโอนเงิน
7. เว็บไซต์ปลอม (Fake Websites) สร้างเว็บไซต์ที่หน้าตาเหมือนเว็บไซต์จริง เช่น ร้านค้าออนไลน์หรือเว็บไซต์ธนาคาร หลอกให้เหยื่อกรอกข้อมูลส่วนตัวหรือทำธุรกรรม
8. ปลอมแปลงเป็นองค์กรหรือบุคคล (Impersonation) ปลอมแปลงเป็นคนมีชื่อเสียง องค์กร หรือบุคคลในชีวิตประจำวัน เช่น เพื่อนหรือครอบครัว ใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการหลอกลวงทางการเงิน
9. การหลอกลวงในแพลตฟอร์มเกมและโซเชียลมีเดีย เช่น การหลอกให้ซื้อไอเทมเกม การขายบัญชีเกมปลอม หรือการแฮ็กบัญชีเพื่อใช้ส่งข้อความหลอกลวงผู้อื่น
10. การปลอมแปลงเอกสารหรือใบเสร็จออนไลน์ การใช้เอกสารหรือหลักฐานปลอม เช่น สลิปโอนเงิน เพื่อหลอกให้เหยื่อส่งสินค้า
11. หลอกลงทุน (Investment Scam) การชักชวนลงทุนในธุรกิจหรือสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงเกินจริง เช่น การเทรดคริปโตเคอร์เรนซีปลอม หุ้นปลอม หรือแชร์ลูกโซ่
12. โจมตีด้วยข้อมูลส่วนตัว (Identity Theft) การขโมยข้อมูลส่วนตัวเพื่อใช้ในทางที่ผิด เช่น สมัครบัตรเครดิต หรือทำธุรกรรมการเงินในนามของเหยื่อ
13. มิจฉาชีพเกี่ยวกับงานออนไลน์ เช่น การหลอกให้จ่ายเงินเพื่อสมัครงาน หรือหลอกให้ทำงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน
14. การปลอมแปลงแพลตฟอร์มธุรกรรมออนไลน์ การส่งลิงก์ปลอมของแพลตฟอร์มจ่ายเงิน เช่น PayPal หรือธนาคาร เพื่อหลอกให้เหยื่อกรอกข้อมูล
สถิติ ในปี 2566 คนไทยได้รับสายโทรเข้าและข้อความ (SMS) หลอกลวงมากถึง 78.8 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 18% จากปี 2565 เฉลี่ยคนไทย 1 คนได้รับสายจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ 7.3 สาย และได้รับ SMS หลอกลวง 20.3 ข้อความต่อปี
นี่ก็คือภัยคุกคามต่างๆที่อันตรายค่อความมั่นคงของชาติ และเศรษฐกิจ กระทบความเชื่อมั่นของประชาชนในการใช้ชีวิตและความปลอดภัย ที่ทุกประเทศกำลังหาวิธีปราบปราม และหยุดยั้ง สำคัญคือความจริงจังในการใช้กฎหมายบังคับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาร่วมแก้ไขปัญหา หรือแม้กระทั่งเจรจาแพลตฟอร์มต่างชาติเพื่อให้ความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม
ผลกระทบจากแก๊งค์มิจฉาชีพ และเวปไซต์แจ้งเตือนภัย ลงข้อมูลแบบไร้ความรับผิดชอบ ส่งกระทบคนบริสุทธิ์
ส่วนตัวผมได้รับผลกระทบของมิจฉาชีพเช่นกัน จากการนำชื่อไปแอบอ้าง หลอกลวงขายสินค้า ซึ่งผมได้นัดผู้เสียหายมาสอบถามและแสดงความบริสุทธ์ใจ และผมได้เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่เป็นหลักฐานไป 2 ครั้ง เพื่อดำเนินการเอาผิดตามกฎหมาย เนื่องจากได้รับความเสียหายแอบอ้างชื่อไป และสืบทราบว่าถูกใช้ชื่อไปเปิดบัญชี และอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งผู้เสียหายก็จะเข้าใจผิด
เนื่องจากชื่อนามสกุลเหมือนกัน ซึ่งผลกระทบคือผู้เสียหายก็ไปประกาศแจ้งในเวปไซต์ www.blacklistseller.com ซึ่งผมก็ได้แจ้งความและแจ้งให้เวปไซต์รับทราบ และขอความร่วมมือให้ลบชื่อ เนื่องจากทำให้เข้าใจผิดได้ ตรงนี้ทำให้ผมเดือดร้อนมากๆ ซึ่งตำรวจแจ้งว่ามีเคสแบบนี้เกิดขึ้นเยอะมากในแต่ละวัน นี่ละครับปัญหาความเดือดร้อนที่หลายคนต้องเจอ และเป็นเรื่องที่ภาครัฐบาล และหน่วยงานความมั่นคงต้องจริงจังมากกว่านี้ และที่สำคัญเวปไซต์ที่รับแจ้งเตือนภัย ก็ควรมีความน่าเชื่อถือเเละเป็นเวปไซต์ของหน่วยงานไม่ใช่ใครก็ได้ที่ตั้งตนมาเป็นศาลเตี้ย ลงข้อมูลที่ขาดความรับผิดชอบ ส่งผลกระทบกับคนบริสุทธิ์ มันแย่จริงๆครับ
0 ความคิดเห็น