โพล ม.สยาม ระบุกลุ่มเป้าหมายยังเลือกผู้ว่าฯ กทม.จากนโยบายเป็นหลัก รองลงมาเพราะชื่อเสียงผู้สมัคร ขณะที่ชื่อ “ชัชชาติ” ยังมีแนวโน้มในการตัดสินใจ แต่มีสัดส่วนเพียง 37% ตามด้วย “สุชัชวีร์” และ “อัศวิน”
วันนี้ (5 พ.ค.2565) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “สิงห์สยามโพล” คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชาญชัย จิตรเหล่าอาพร คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยสาขารัฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น สิงห์สยามโพล แถลงผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร เรื่อง การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพมหานครครั้งที่ 2 (หลังวันรับสมัคร)
เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็น “การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2 (หลังวันรับสมัคร)” ซึ่งสำรวจข้อมูลระหว่าง วันที่ 21-30 เม.ย.2565 จำนวน 1,632 ตัวอย่าง
ผลการสำรวจ พบว่า 1.แนวโน้มในการตัดสินใจเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
กลุ่มตัวอย่างมีแนวโน้มในการตัดสินใจเลือก นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 37.0 รองลงมา งดออกเสียง ร้อยละ 14.2 นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ร้อยละ 13.5 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ร้อยละ 12.0 อื่น ๆ ร้อยละ 6.9 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ร้อยละ 6.6 นายสกลธี ภัททิยกุล ร้อยละ 4.4 น.ส.รสนา โตสิตระกูล ร้อยละ 3.7 และสุดท้ายคือ น.ต.ศิธา ทิวารี ร้อยละ 1.7
2.กระแสการเมืองระดับชาติมีผลต่อการตัดสินใจเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 72.3 ระบุว่า มีผลต่อการตัดสินใจ ขณะที่ร้อยละ 27.7 ระบุว่า ไม่มีผลต่อการตัดสินใจ
3.ตัดสินใจเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ด้วยเหตุผลใด
กลุ่มตัวอย่างตัดสินใจเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งจากนโยบาย ร้อยละ 65.9 รองลงมาเลือกเพราะชื่อเสียงของผู้สมัคร ร้อยละ 17.6 อื่น ๆ ร้อยละ 10.8 ป้ายและสื่อ ร้อยละ 3.4 และหมายเลขผู้สมัคร ร้อยละ 2.2
4.ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ควรสังกัดพรรคการเมืองหรืออิสระ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 64.2 เห็นว่า ควรอิสระ ขณะที่ร้อยละ 35.8 เห็นว่าควรสังกัดพรรคการเมือง
5.ตัดสินใจเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ด้วยเหตุผลใด กลุ่มตัวอย่างระบุว่า ตัดสินใจเลือกจากนโยบายของผู้สมัคร ร้อยละ 65.7 รองลงมาคือ ชื่อเสียงของผู้สมัคร ร้อยละ 17.4 อื่น ๆ ร้อยละ 13.7 หมายเลขผู้สมัคร ร้อยละ 1.7 และสุดท้ายคือ ป้ายและสื่อ ร้อยละ 1.5
6.หัวคะแนนมีบทบาทต่อการโน้มน้าวการตัดสินใจเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) หรือไม่ กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 53.7 ระบุว่า แต่ร้อยละ 46.3 ระบุว่า มีบทบาท
0 ความคิดเห็น